สภาเซอร์ร่าประเทศไทย
Serra Council of Thailand

ย้อนประวัติศาสตร์ของคณะเซอร์ร่าในประเทศไทย (ตอนที่ 1)

ย้อนประวัติศาสตร์ของคณะเซอร์ร่าในประเทศไทย (ตอนที่ 2)

คุณพ่อยอแซฟ คาร์ร่า ผู้นำคณะเซอร์ร่ามาสู่ประเทศไทย
การจัดตั้งกลุ่มเซอร์ร่าในสังฆมณฑลทั้ง 10

ย้อนประวัติศาสตร์ของคณะเซอร์ร่าในประเทศไทย (ตอนที่ 2)
ผู้เขียน คุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์
จิตตาธิการองค์แรกในประเทศไทย

การดำเนินการก่อตั้งคณะเซอร์ร่า

นับเป็นเรื่องแปลก ที่พวกเราเพียงแค่ไปทานอาหารเพียงครั้งเดียว ฟังคุณพ่อกลาร่าพูดประมาณหนึ่งชั่วโมง มีคู่มือพียงไม่กี่เล่ม พวกเราก็ได้ตกลงที่จะตั้งคณะเซอร์ร่าขึ้น ทั้งที่ทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์ หรือมีความรู้เกี่ยวกับคณะเซอร์ร่าเลย ซึ่งบรรดาคนฉลาดหรือผู้ที่มีสติปัญญาส่วนมากพวกเขาไม่ยอมตกลงหรือทำอะไรง่ายอย่างนี้

พวกเราไม่คิดมาก ไม่เคยคิดถึงความยากลำบาก ไม่เคยคิดถึงปัญหา ไม่เคยวาดฝันถึงอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไร จะก้าวไปได้แค่ไหน จะอยู่ได้นานเท่าใด จะเกิดประโยชน์แก่พระศาสนจักรในประเทศไทย หรือประชาชน หรือตนมากน้อยเท่าใด ฯลฯ แต่พวกเราทุกคนก็ได้ตกลงที่จะตั้ง

พวกเราได้ไปพบกันที่บ้านพ่อ และไม่รอช้า ที่จะเลือกประธาน เพื่อการดำเนินการก่อตั้งทันที พวกเราได้พร้อมใจเลือกคุณพอลแมรี่ สุวิช สุวรุจิพร เป็นประธานดำเนินการ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยกันรับงาน ช่วยกันศึกษา ช่วยกันแปล ฯลฯ ทำให้พวกเราค่อยๆรู้จักคณะเซอร์ร่า นำสิ่งที่พวกเราศึกษามาแบ่งปันกัน จนรู้ว่าคณะเซอร์ร่าเป็นอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร แล้วพวกเราจึงค่อยๆดำเนินการตามวัตถุประสงค์จนพวกเราสามารถดำเนินการจนเห็นรูปเห็นร่างมากขึ้น

ทุกคนต่างรับงาน ช่วยกันทำ ช่วยกันรับผิดชอบ ทั้งๆที่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีเงินพิเศษ ไม่มีเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ ยิ่งกว่านั้นทุกท่านยังจะต้องจ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ฯลฯ จนหลายๆท่านคิดว่าคณะเซอร์ร่ามีเงินสนับสนุนมากมายจากเมืองนอก ทั้งที่พวกเราไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย แม้แต่น้อย พวกเราช่วยกันจ่าย โดยไม่มีใครพูดถึงค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าอาหารที่เลี้ยงกันทุกครั้งของที่ประชุม ฯลฯ

สภาพของพวกเราในเวลานั้น เป็นสภาพเหมือนกับศิษย์ของพระเยซูเจ้า มีหลายท่านที่น่ารัก ที่ได้ช่วยกันเต็มที่ แม้พวกเราจะมีจำนวนน้อย แต่ทุกคนก็ทำงานเต็มที่ ทุกคนต่างมีความสุข เพราะทุกคนคิด ทุกคนทำ โดยคิดว่าคณะเซอร์ร่าเป็นของทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่มีบางท่านไม่ค่อยมีเวลา ติดธุระ หรือไม่สามารถจะช่วยได้เต็มที่ ถึงกระนั้นพวกเขาก็ได้พยายามช่วยเต็มที่ ช่วยกันเท่าที่จะสามารถและที่สำคัญทุกคนต่างก็ให้กำลังใจแก่กันและกัน

วัตถุประสงค์ของคณะเซอร์ร่า

1. เพื่อทำนุบำรุงและส่งเสริมกระแสเรียกแห่งการเป็นสงฆ์และนักบวชในพระศาสนจักรคาทอลิก และถือว่าเป็นกระแสเรียกแห่งการรับใช้ที่พิเศษสุด และจะรณรงค์ให้คริสตชนได้ชื่นชมและเห็นคุณค่าแห่งการเลือกกระแสเรียกนี้ในการดำรงชีวิต
2. เพื่อเชิดชูพระศาสนจักรคาทอลิก ด้วยการสนับสนุนให้สมาชิกปฏิบัติตามหน้าที่แห่งกระแสเรียกการรับใช้ในฐานะคริสตชนของตน ให้ดีสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยอาศัยวิธีการศึกษา ให้ความรู้อบรมตนเองและสมัครสมานทำงานร่วมกันให้กับคณะ

เป็นที่ทราบกันว่าหัวใจของคณะต่างๆ อยู่ที่วัตถุประสงค์ และความยุ่งยากของการตำเนินการในการตั้งคณะใหม่ ต้องตีความในวัตถุประสงค์ที่สั้นๆและย่อๆเหล่านี้ออกมาเป็นกฎ เป็นระเบียบ เป็นข้อปฏิบัติ เป็นกิจกรรมดำเนินการต่างๆ  ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องที่ต้องการบุคคลากรที่มีความรู้ มีความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม โดยยึดหลักและระเบียบข้อบังคับต่างๆในคู่มือเป็นหลัก เป็นแนวทาง แต่หลักเหล่านั้นเป็นหลักที่เป็นแนวทางกลางๆ เป็นหลักทางที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก หลายอย่างดีเหมาะสมและเกิดประโยชน์ สำหรับประเทศทางตะวันตก ฯลฯ แต่บางสิ่งอาจจะไม่เหมาะและไม่เกิดประโยชน์สำหรับพวกเราทางตะวันออก(ชาวเอเชีย) ก็มี ฯลฯ

การปรับเข้าสู่วัฒนธรรมคาทอลิกไทย

เนื่องจากพวกเราเป็นคริสตชนคาทอลิก มีความเชื่อ มีหลักปฏิบัติ ฯลฯ ทำให้พวกเราได้ยินเสียงของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับพวกเราว่า “ปราศจากเรา ท่านทำอะไรไม่ได้” (ยน 15:4)

ดังนั้นเมื่อพวกเราเจอปัญหา ความยากลำบาก ความกังวล ฯลฯ พวกเราจึงหันเข้าหาสัจธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า และพยายามวางคณะใหม่บนความเชื่อ และปรับทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่วัฒนธรรมคาทอลิก และที่สำคัญคือวัฒนธรรมคาทอลิกไทย นั่นก็หมายความว่า พวกเราพยายามพากันหันไปหาพระเป็นเจ้า ผู้ประทับอยู่บนสวรรค์ ขอพระองค์ทรงช่วยชี้ทาง ส่องสว่างและนำทางพวกเราในการทำงานของพวกเรา

พวกเราจึงพร้อมใจกันเชิญชวนสมาชิกให้มาก่อนการประชุม เพื่อร่วมถวายบูชามิสซาขอบพระคุณพระเป็นเจ้าร่วมกับสัตบุรุษที่วัดคอนเซ็ปชัญทุกๆครั้ง แล้วจึงเริ่มการประชุม เพราะว่าไม่มีการวอนขออะไรดีเท่ากับการวอนขอพระเยซูเจ้าและพร้อมกับพระเยซูเจ้าในบูชามิสซาขอบพระคุณ เพราะจะทำให้พวกเราได้ความสว่าง ได้แนวทาง ได้ความนึกคิด กำลังใจ ได้พลัง ฯลฯ จากพระวาจาทรงชีวิตในบูชามิสซาขอบพระคุณ จะได้ทำให้พวกเราสามารถดำเนินการประชุมและบังเกิดผลตามแนวทางของพระเป็นเจ้า

เมื่อพวกเรามีการโยกย้ายสถานที่ประชุมตามการโยกย้ายของพ่อหรือคุณพ่อจิตตาธิการ พวกเราจะพยายามถวายบูชามิสซาขอบพระคุณพระเป็นเจ้าภายในกลุ่มของพวกเราก่อนการประชุม หรือเมื่อมีปัญหาในการเดินทางของสมาชิก ที่จะทำให้การประชุมของพวกเราล่าช้า พวกเราจะเลื่อนถวายบูชาขอบพระคุณพระเป็นเจ้าหลังการประชุมทุกครั้งเท่าที่พวกเราจะสามารถทำได้

และเมื่อเวลาที่พ่อหรือคุณพ่อจิตตาธิการไม่อยู่ พวกเราจะเริ่มด้วยการทำวจนพิธีกรรม และสวดภาวนาขอพระจิตเจ้าได้โปรดส่องสว่างให้แก่พวกเรา เป็นลำดับแรกและเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะอ่านพระคัมภีร์ แบ่งปันพระวาจาของพระองค์หรือจากกันและกัน บางครั้งพวกเราก็มีการสวดลูกประคำ วอนขอแม่พระ เพื่อจะได้วอนขอพระเป็นเจ้าเพื่อพวกเราอีกแรงหนึ่ง ฯลฯ

นอกจากนั้นพวกเรายังเน้นการเชิญวิทยากรที่เป็นพระสงฆ์หรือนักบวชทั้งชายและหญิง มาแบ่งปันประสบการของพระศาสนา หรือแบ่งปันเรื่องการแพร่ธรรม แบ่งปันถึงเรื่องคณะฯ การทำงาน ฯลฯ ทำให้พวกเราได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ที่จะช่วยให้พวกเราได้รับความรู้ ความเข้าใจในกระแสเรียกที่พวกเราจะต้องไปทำงานส่งเสริมกระแสเรียกของการเป็นพระสงฆ์ นักบวช และที่จะรักษากระเรียกของตนและช่วยให้คนอื่นได้พบกระแสเรียกของเขาในการเป็นพระสงฆ์และนักบวช อีกด้วย

การปรับเข้าสู่วัฒนธรรมไทย

พระสันตะปาปาหลายพระองค์ก็ได้ทรงแนะนำและเน้นบรรดามิสชันนารีให้ระมัดระวัง “นับเป็นการโง่เขลาอย่างยิ่งที่จะนำขนบธรรมเนียมของเรา ไปใช้หรือไปให้เขา แต่ความเชื่อต่างหากที่ต้องนำไปให้เขา ความเชื่อไม่ลบล้างหรือลดคุณค่าขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศใดเลย เว้นแต่จะเป็นประเพณีที่ไม่ดีเสื่อมเสียเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามความเชื่อจะช่วยรักษาและส่งเสริมให้ดีบริบูรณ์) ........ (สมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน)

และนอกจากนั้นพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ก็ได้เน้นให้เห็นว่าศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆมีสิ่งที่ดี สิ่งที่จริงและสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำองค์ความจริงมาส่องมนุษย์ พระศาสนจักรไม่ปัดทิ้ง สิ่งที่ดี ที่จริงและศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับให้ความเคารพ ...ฯลฯ

เพราะฉะนั้นพวกเรานอกจากจะปรับคณะเซอร์ร่าของพวกเราลงรากลึกลงในวัฒนธรรมคาทอลิกไทยแล้ว พวกเรายังพบขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างของทางตะวันตกที่มีประโยชน์ แต่ไม่มีประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยสำหรับประเทศทางตะวันออก

ข้อหนึ่งที่พวกเรารับมา ก็คือ การรับประทานอาหารไป ประชุมกันไป พูดคุยกันไป แลกเปลี่ยนความนึกคิด และมีการตกลงที่จะทำหรือสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพระศาสนจักร หรือต่อประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ ซึ่งพวกเราก็ได้ดำเนินตามไประยะหนึ่ง ซึ่งก็นานพอสมควร ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากมาก เป็นต้นในเรื่องปัจจัยและผู้ที่จะเตรียมอาหารให้แก่เพวกเรา ฯลฯ ใหม่ๆ พวกเราหลายคนก็ชอบ แต่การประชุมเช่นนั้น ไม่ใช่ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย ที่มีหลายคนชอบดื่มสุรา แทนที่จะได้งานหรือมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน กลับจะทำให้เกิดการแตกแยก และนำผลร้ายมาให้แก่คณะฯและส่วนรวมมากกว่า ฯลฯ ดังนั้นพวกเราจึงได้ตกลงกันงดการกระทำตามกล่าว หันมาดำเนินการประชุมตามวาระต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมคาทอลิกไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ทำให้คณะเซอร์ร่าแบบตะวันตก มาเป็นคณะเซอร์ร่าแบบไทย เป็นของไทย เหมาะกับนิสัยไทยและขนบธรรมเนียมไทยมากขึ้น จนทำให้พวกเราคาทอลิกไทยมีวัฒนธรรมคาทอลิกไทย จะรวมเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมคาทอลิกสากล

พระญาณเอื้ออาทรของพระเป็นเจ้า

พระญาณเอื้ออาทรของพระเป็นเจ้าเป็นเรื่องที่พวกเราไม่สามารถมองเห็นได้ แต่พวกเราสามารถเห็นและรู้ได้จากการเจริญเติบโตของคณะฯ ซึ่งพวกเราต้องยอมรับว่าคณะเซอร์ร่าในประเทศไทย เป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า และเป็นมาตั้งแต่นิรันดร ซึ่งพวกเราอยู่ในบุคคลที่ร่วมก่อตั้ง พวกเราสามารถมองเห็นทุกสิ่งและทุกอย่างเป็นพระเป็นเจ้าได้ทรงเตรียม ทรงจัด ทรงวางแผน ทรงดำเนินการ ฯลฯ อย่างแท้จริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างค่อยๆดำเนินการอย่างเหมาะเหม็ง อย่างดีและอย่างสมบูรณ์แบบ จนยากจะบอกว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

สิ่งหนึ่ง ที่นำความยุ่งยากและลำบากใจมาให้แก่พวกเราในช่วงแรกๆ ก็คือ การปฏิบัติตามกฎของคณะฯ ที่จะต้องเปลี่ยนประธานของคณะฯ ในทุกปี

แน่นอนการเพิ่งเริ่มต้น การเพิ่งรู้จักกัน การเพิ่งรู้จักหน้าที่ การเพิ่งพบลู่ทางในการทำงานตามวัตถุประสงค์ การเพิ่งสามารถทำงานร่วมกันได้ ฯลฯ ดูเหมือนกับว่าทุกอย่างกำลังจะดำเนินไปได้อย่างดี อย่างมั่นคง ฯลฯ แต่กฎของคณะฯก็บังคับพวกเรา จะต้องเปลี่ยนประธานทุกๆปี ทำให้พวกเรานึกคิดไปต่างๆนานา ตามประสาผู้ที่เคยมีประสบการและความรู้ ว่าเมื่อพวกเราเปลี่ยนประธานทุกปี ตามระเบียบของคณะฯ คณะฯจะต้อง ชะงัก หรืออาจจะล้มก็อาจจะเป็นไปได้ ยิ่งพวกเรามีประธานที่เก่ง ที่มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ ทำงานด้วยความทุ่มเท ฯลฯ จนทำให้คณะฯมีตัวมีตน มีความมั่นคงและพร้อมที่จะดำเนินต่อไปอย่างสง่างาม

ดังนั้นพวกเราจึงยังไม่ยอมปฏิบัติตามกฎตามข้อบังคับของคณะฯเป็นเวลาหลายปี มิใช่ว่าพวกเราดื้อ แต่พวกเราต้องการความปลอดภัย ต้องการรอบคอบ ต้องการความมั่นคงของคณะฯ ฯลฯ พวกเรายอมรับว่า พวกเราอิงอยู่กับบุคคล ที่เป็นประธาน ซึ่งพวกเราเชื่อว่าพระเป็นเจ้าทรงส่งมา ให้เป็นผู้นำและเป็นผู้รวมความเป็นหนึ่งเดียวกันในการสร้างคณะเซอร์ร่าของเรา

ในที่สุดเมื่อพวกเรายอมปฏิบัติตามกฎ พวกเราหันมาวางใจในพระเป็นเจ้า ที่จะช่วยและนำพวกเราด้วยพระญาณเอื้ออาทรอันทรงพระปรีชาญาณ  ทำให้พวกเราได้รับพบหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มมากขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง แม้นผู้ที่จะมาเป็นประธานใหม่นั้น จะด้อยด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์ อาจจะไม่เท่ากับประธานท่านแรก แต่ถึงกระนั้นประธานท่านนี้และก็รวมถึงประธานทุกคน เพิ่ม เติม เสริม ความนึกคิด มุมมองที่แตกต่างออกไป ฯลฯ จึงทำให้พวกเราเห็นว่า ถ้าพวกเราเชื่อในพระญาณเอื้ออาทรของพระเป็นเจ้า พระองค์จะทรงทำสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่พวกเราไม่สามารถจะบรรยายได้จริงๆ

ประธานท่านที่ 2 เป็นประธานที่พวกเราเห็นชัดเจน ว่าพระเป็นเจ้า ทรงจัด ทรงเตรียมและทรงส่งมา คือ ยอแซฟ วินิจ วสุพงศ์พิพัฒน์ เป็นสัตบุรุษวัดกาลหว่าร์ ได้รับการอบรมที่บ้านเณรยอแซฟอุปถัมภ์ สามพราน นครปฐมช่วงหนึ่ง แล้วไปศึกษาเพิ่มเติม มีหน้าที่การงาน เป็นบุคคลรุ่นใหม่ ไฟแรง มีความคิดริเริ่ม มีความเอาจริงเอาจัง ท่านมาเสริม มาทำงานต่อและทำในสิ่งที่ประธานท่านก่อนยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้กระทำ ทำให้คณะฯดำเนินไปอีกแบบหนึ่ง อีกมุมหนึ่งที่แตกต่างไป ทำให้พวกเราได้เห็นพระญาณเอื้ออาทรของพระเป็นเจ้าที่ทำงานของพระองค์โดยใช้ผู้ที่เป็นประธาน นับเป็นเรื่องแปลกและเกิดขึ้นจริงในการดำเนินการก่อตั้งคณะเซอร์ร่าของพวกเรานี้

บุคคลตัวอย่างในคณะเซอร์ร่า

ในท่ามกลางบุคลากรที่พระเป็นเจ้าทรงจัด ทรงเตรียม และทรงส่งมาดำเนินการก่อตั้งคณะของพระองค์ มีบุคคลมากมายที่ควรแก่การยกย่องในฐานะผู้บุกเบิก หรือมิได้บุกเบิก ที่ได้ซื่อสัตย์ต่อเสียงเรียกของพระเป็นเจ้าให้มาทำงานของพระองค์อย่างดี แม้นจะเจอปัญหา อุปสรรค และความยากลำบากมากมาย ก็ไม่ยอมละทิ้ง แต่ยืนหยัดมั่นคงในการทำงานของพระเป็นเจ้านับตั้งแต่วันแรก จนถึงปัจจุบัน ควรที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาสมาชิกปัจจุบันและอนาคต

คุณปอล แมรี่ สุวิช สุวรุจิพร ท่านเป็นบุคคลที่พ่อคิดว่า ถ้าพ่อและพวกเราไม่ได้มีประธานดำเนิน การและประธานหลายสมัยแล้ว พวกเราไม่ทราบว่าคณะฯจะเจริญก้าวหน้าไปได้มากมายขนาดนี้หรือไม่

เมื่อมองย้อนถึงอดีตเมื่อแรกเริ่ม ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเชิญและได้ไปรับประทานอาหารและฟังคุณพ่อกลาร่าบรรยาย  ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งในวงการของสังคมและในวงการพวกเราคาทอลิก

ในวงการสังคมท่านได้เป็นผู้บริหารบริษัทหลายบริษัท ล้วนแต่เป็นบริษัทที่ใหญ่และกำลังรุ่งเรือง

ส่วนในวงการคาทอลิก ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของคณะพลมารีและกำลังดำเนินไปอย่างดี จนทุกคนยอมรับว่า ท่านเป็นคริสตชนใหม่ ที่มีไฟแรง มีจิตใจร้อนรน ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับคณะพลมารีและท่านก็รักคณะพลมารีมาก เมื่อท่านได้รับเชิญให้เป็นประธานดำเนินการ แทนที่ท่านจะบอกว่าท่านไม่ว่าง ไม่มีเวลา กำลังจะต้องทำหน้าที่ที่คณะพลมารี หรือทำหน้าที่ที่บริษัท ฯลฯ ท่านก็มีเหตุผลและเหตุผลที่พวกเราจะต้องยอมท่าน ว่าท่านมีงานมาก ทำให้คิดไม่ออกเหมือนกันว่า ถ้าคณะฯจะไม่มีท่านหรือเมื่อท่านปฏิเสธเมื่อตอนแรกเริ่ม คณะฯจะเป็นอย่างไร.... แต่ท่านกลับเต็มใจรับและไม่เพียงยอมรับเท่านั้น  ท่านยังทุ่มเท ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ทุกอย่าง จนสมาชิกยอมให้ท่านเป็นประธานดำเนินการและเป็นประธานติดต่อกันถึง 4 สมัย ซึ่งตามกฎของคณะฯแล้วจะต้องเปลี่ยนประธานทุกปี

แต่สมาชิกส่วนมากต่างพากันขอผัด ขอเลื่อน เพราะพวกเราหวั่นว่าคณะฯจะหยุดชะงักหรืออาจ จะล้ม ฯลฯ ยิ่งเปลี่ยนประธานที่ทุ่มเทอย่างท่าน จึงทำให้พวกเราขอยืดเวลาเป็นสมัยที่ 2 ที่3 และที่ 4 ที่สุดพวกเราก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎของคณะฯ แม้นจะมีบางท่านที่คัดค้าน หรือปฏิกริยาไม่ยอมรับประธานคนใหม่ ที่เป็นเด็กกว่า มีประสบการณน้อยกว่า เป็นสมาชิกในรุ่นหลัง ฯลฯ แต่ประธานแต่ละท่าน ต่างก็ได้ทำงานและเกิดผลด้วยเดชะพระจิตเจ้า และที่น่าชม ก็คือบรรดาอดีตประธานหลายๆท่าน เมื่อทำการสับเปลี่ยนหน้าที่แล้ว ยังจะมาประชุม มายอมรับมอบหมาย มาให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ

พวกเราได้พบเอกลักษณ์สำคัญของคณะและการปฏิบัติของอดีตประธานท่านแรก ท่านถือว่า คณะฯเป็นของท่าน ท่านแม้นจะมิได้เป็นประธาน หรือในตำแหน่งไหนๆ ท่านมาประชุม มาให้ความคิดเห็น ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้ทุกสิ่งที่ท่านสามารถทำให้แก่คณะฯหรือแก่สมาชิกได้ ท่านทำและอยู่ด้วยเสมอ นับตั้งแต่วินาทีแรกของการเริ่มต้นอย่างไร ตลอดเวลา 25 ปี ท่านยังทำเหมือนเดิมเช่นนั้น เป็นภาพที่ดี ที่ได้เห็นอดีตประธานยังมาประชุม ยังมารับหน้าที่ช่วย มาร่วมกันคิด ช่วยกันทำ เหมือนกับที่ท่านทำหน้าที่ประธาน ยอมเป็นสมาชิกธรรมดาหรือจะรับตำแหน่ง หรือจะเป็นผู้ปรึกษา ทำให้เห็นความสุภาพ เห็นความรัก ความปรารถนาดีจริงๆ ต่อคณะฯ ที่แตกต่างกับคณะอื่นๆ แม้กระทั่งในกิจการคาทอลิกเอง ความเป็นสมาชิกเช่นนี้ช่วยให้เห็นจิตตารมณ์อันสูงส่ง เห็นงานเป็นงานของพระ เห็นงานต่อเนื่อง เห็นงานที่ชัดเจน แม้นเมื่ออยู่นอกหน้าที่รับผิดชอบ ท่านยังห่วงใยและให้คำแนะนำ สนับสนุนโดยคิดว่างานของคณะเป็นงานของทุกคนที่ต้องรักและรับผิดชอบ

แต่สิ่งที่มีความสำคัญมาก ที่ได้เห็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกและทรงเลือกมาทำงานของพระองค์ แม้นจะมีการสับเปลี่ยนหน้าที่และความรับผิดชอบ สมาชิกทุกคนจะต้องยอมรับการเป็นผู้นำ ร่วมประชุมมารับหน้าที่ มาทำงานด้วยความสำนึกว่า งานในคณะฯคืองานของพระเป็นเจ้าที่ทุกคนจะต้องสำนึกและต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ หรือเป็นงานพิเศษที่พระเป็นเจ้าได้ทรงมอบโดยทางตรงหรือทางอ้อมๆ เป็นพระเป็นเจ้าได้กำหนดและได้ทรงจัด เพื่อพวกเราจะได้รักกัน ช่วยเหลือกัน ทำดีต่อกัน พวกเราจะต้องไม่ทิ้งงาน ต้องไม่เอาตัวรอด ไม่หนีความรับผิดชอบ ฯลฯ

ประธานคณะเซอร์ร่าในอดีตถึงปัจจุบัน

ประธานท่านที่ 1 1980-1981 บ.ปอลแมรี่ สุวิช สุวรุจิพร
ประธานท่านที่ 2 1981-1982 บ.ปอลแมรี่ สุวิช สุวรุจิพร
ประธานท่านที่ 3 1982-1983 บ.ปอลแมรี่ สุวิช สุวรุจิพร
ประธานท่านที่.4 1983-1984 บ.ปอลแมรี่ สุวิช สุวรุจิพร
ประธานท่านที่ 5 1984-1985 บ.ยอแซฟ วินิจ วสุพงศ์พิพัฒน์
ประธานท่านที่ 6 1985-1986 บ.ดอมีนิก ซาเวรีโอ ภูวนารถ วิพุธานุพงษ์
ประธานท่านที่ 7 1986-1987 บ.ดอมีนิก ซาเวรีโอ ภูวนารถ วิพุธานุพงษ์
ประธานท่านที่ 8 1987-1988 บ.ฟรังซีสโก ไพรัช อนงค์จรรยา (เสียชีวิต 26 ต.ค.1997/5239 อยู่กับพระบิดาชั่วนิรันดร )(
ประธานท่านที่ 9 1988-1989 บ. ดอมีนิก  พูลศักดิ์ ชัยอัมพร
ประธานท่านที่ 10 1989-1990 บ. ยอห์น ศิริ แสงหาญ (เสียชีวิต 28 พย. 2546/2003 อยู่กับพระบิดาชั่วนิรันดร)
ประธานท่านที่ 11 1990-1991 บ. ยอแซฟ อภินันท์ จารุรัตนรงค์
ประธานท่านที่ 12 1991-1992 บ. เปโตร แมรี่ สงวน ธนารักษ์
ประธานท่านที่ 13 1992-1993 บ. ยอแซฟ ประดิษฐ์ โลหะวิริยะศิริ
ประธานท่านที่ 14 1993-1994 บ. ยวงบัปติสตา ไพโรจน์ สุทธิเกียรติ
ประธานท่านที่ 15 1994-1995 บ. เปโตร สุนันท์ แหวนทองคำ
ประธานท่านที่ 16 1995-1996 บ. เปโตร แมรี่ สงวน ธนารักษ์
ประธานท่านที่ 17 1996-1997 บ. วินเซนต์ อภิชาต สิริวรนาด
ประธานท่านที่ 18 1997-1998 บ. ยอห์นบอสโก เชาว์ กีรติพงศ์
ประธานท่านที่ 19 1998-1999 บ. อันเดร วิรัตน์ อังกุรัตน์
ประธานท่านที่ 20 1999-2000 บ. ฟรังซีสเซเวียร ยุทธนา  ทองกำผลา
ประธานท่านที่ 21 2000-2001 บ. ยวงบัปตีสตา ไพโรจน์ สุทธิเกียรติ
ประธานท่านที่ 22 2001-2002 บ. ยอแซฟ ประจวบ อนนตพันธ์
ประธานท่านที่ 23 2002-2003 บ. ฟรังซีสเซเวียร ยุทธนา  ทองกำผลา
ประธานท่านที่ 24 2003-2004 ซ. มารีอา ประภัสสร อรรถมานะ
ประธานท่านที่ 25 2004-2005 ซ เทเรซา ทิพากร เรืองวุฒิชนะพืช.

สรุป

จากการแบ่งปันประสบการณ์ของการรับเอาคณะเซอร์ร่ามาในประเทศไทย ทำให้ต้องแปลกใจในแผนการของพระเป็นเจ้า ที่ได้ทรงวางแผน ทรงจัด ทรงเตรียม และทรงดำเนินการ จากบุคคลเพียงไม่กี่คน สามารถเจริญเติบโตอย่างเช่นบรรดาอัครสาวก และปีนี้จะเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปีนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา ยากที่จะเชื่อ ยากที่จะบรรยาย แต่อยากจะบอก เป็นต้น อยากจะบอกกับบรรดาสมาชิกของคณะฯว่า “การทำงานของคณะเซอร์ร่า เป็นงานของพระเป็นเจ้าที่พระองค์ทรงมอบมาให้พวกเรา ได้ตั้งและให้ดำเนินการ พวกเราเป็นแต่เพียงผู้แทนของพระองค์

เพราะฉะนั้นพวกเราจะต้องภาคภูมิใจ ประพฤติตนดี เป็นบิดามารดาที่ดี จะได้สนับสนุนสมาชิกในครอบครัวและขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสนับสนุนกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์และนักบวชในทุกหนทุกแห่ง จะได้มีคนงานมากมาทำงานของพระเป็นเจ้า จะได้มีแกะเพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว (ยน 10:16)

.......”ถ้าความคิดและกิจการนี้มาจากมนุษย์ ก็จะล้มละลายไปเอง แต่ถ้ามาจากพระเจ้า ท่านทั้งหลายจะทำลายเสียก็มิได้ เกลือกว่าท่านกลับจะเป็นผู้สู้รบกับพระเจ้า”...กามาลิเอลพูดในหนังสือกิจการของอัครสาวก บทที่ 5 ข้อที่ 39.

ขอพระอวยพรสมาชิกคณะเซอร์ร่าและผู้อ่านทุกท่าน

ย้อนประวัติศาสตร์ของคณะเซอร์ร่าในประเทศไทย (ตอนที่ 1)

Go Top
Back to Homepage