สาระเซอร์ร่า

(3)
กระแสเรียกฆราวาส
คุณพ่อสมพร อุปพงศ์


โดยปกติแล้ว เรามักจะเข้าใจและคิดถึงบรรดาพระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิง หรือผู้แพร่ธรรมคือผู้ที่มีกระแสเรียก เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ และร่วมพันธกิจกับพระเยซูเจ้า ส่วนฆราวาสไม่จำเป็นต้องถือความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีครอบครัว มีอาชีพการงาน และอยู่ในโลกแห่งวัตถุ ไม่มีความรู้ทางศาสนา ไม่มีหน้าที่แพร่ธรรมโดยตรง มีแต่หน้าที่ไปวัดวันอาทิตย์ (ไม่ไปกลัวตกนรก) แล้วก็กลับบ้าน นี่คือความเข้าใจผิดอย่างมหาศาลเลยทีเดียว นี่คืออันตรายและการนอนหลับ ในความมืดมิดอันยาวนานของคริสตชนตลอดมาหลายศตวรรษ จนมองไม่เห็นและไม่เข้าใจถึงศักดิ์ศรีการเป็นฆราวาสคือกระแสเรียกอย่างหนึ่งที่พระมอบให้ เพื่อนำข่าวดีแห่งพระอาณาจักรของพระองค์ไปสู่มวลมนุษย์

ความจริงแล้ว หลังจากการสิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสตเจ้า บรรดาผู้ที่ติดตามพระองค์ทุกคนเรียกตัวเอง “นักบุญ” ซึ่งหมายถึงคริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า และร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ครบครันในพระผู้เป็นเจ้า “ถึงพระศาสนจักรของพระเจ้าที่อยู่ ณ เมืองโครินทร์ ถึงผู้ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเยซู คือได้รับเรียกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์พร้อมกับทุกคนในทุกสถานที่” (1 คร 1: 2) จากจดหมายของนักบุญเปาโลตอนนี้ ช่วยให้เราเข้าใจชัดเจนถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นคริสตชน นั่นคือการเป็นคนศักดิ์สิทธิ์(อาศัยศีลล้างบาป) และนำความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปสู่ทุกคน ดังนั้นคริสตชนทุกคนต่างมีหน้าที่ในการเสริมสร้างพระศาสนจักรตามสถานภาพและพระพรที่ตนได้รับอย่างเท่าเสมอกัน (เทียบ 1 คร 12: 28) เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นส่วนในอวัยวะแห่งพระ วรกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า “แม้ว่าร่างกายเป็นร่างกายเดียว แต่ก็มีอวัยวะหลายส่วน อวัยวะต่างๆเหล่านี้แม้จะมีหลายส่วน ต่างก็ร่วมเป็นร่างกายเดียวกัน…” (1 คร 12: 12-13) จึงเป็นเรื่องธรรมดาในระยะสองศตวรรษแรกของพระศาสนจักร ไม่มีการแบ่งแยกคริสตชนออกเป็นประเภท (สงฆ์และฆราวาส) หรือจัดลำดับขั้น ทุกคนอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน

ส่วนคำว่า “สมณะ” (Clergy) ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า “Kleros” ในตอนแรกนั้น หมายถึงคริสตชนทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาป ผู้ซึ่งถูกเรียกให้ “เป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ ให้เป็นสมณราชตระกูล ให้เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า เพื่อจะประกาศพระฤทธานุภาพของพระเจ้า” (1 ปต 2: 9) ดังนั้นคำว่า “Kleros” นี้จึงไม่ได้หมายถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเรียกบุคคลที่ได้รับศีลบวช เช่น พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร… เหล่านี้ เป็นต้น

นอกนั้น นักบุญอิกญาซีอุส แห่งอันติโอก ยังใช้คำนี้กับบรรดามรณสักขี (คริสตชนผู้หลั่งเลือดยืนยันความเชื่อของตน) นี่คือสถานภาพความเป็นจริงแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีของคริสตชน (ฆราวาส)

ศตวรรษที่ 3 จึงมีคำว่า “ฆราวาส” (layman) ซึ่งมาจากคำกรีกว่า “laikos” เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงปุถุชนธรรมดา หรือประชาชนธรรมดาที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในบริหารหรือปกครอง แม้มีการบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา บรรดาปิตาจารย์ในศตวรรษแรกๆ ก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการแยกแยะระหว่างการเป็น “สมณะ” (clergy) และการเป็น”ฆราวาส” (layman) ทั้งนี้เพราะพวกเขาตระหนักถึงเกียรติ และศักดิ์ศรีการเป็น “สมณตระกูล” ของบรรดาคริสตชนทุกคน เช่น แตร์ตูเลียน (160-225) ได้ถามในข้อเขียนของท่านว่า “ฆราวาสธรรมดามิได้เป็นสงฆ์ ด้วยหรือ?” เพราะมีบันทึกไว้ว่า “พระองค์ทรงทำให้เรา(คริสตชน) เป็นสงฆ์ และกษัตริย์” (วว 1: 6) ในราวกลางศตวรรษที่สามจึงมีการแบ่งผู้นำคริสตชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกร ซึ่งต่อมาคำว่า “Kleros” นี้ จึงหมายถึงกลุ่มผู้นำเหล่านี้ และแยกออกจากพวกที่เป็นฆราวาส หรือปุถุชนธรรมดาจากคำ “Laicos” (ฆราวาส) ในเวลาต่อมา อันเนื่องมาจาก โครงสร้างของการปกครองในพระศาสนจักร

1. กระแสเรียกฆราวาส : การแพร่ธรรม

พระศาสนจักรได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อขยายพระอาณาจักรของพระเจ้าให้แผ่ขยายไปทั่วโลก เพื่อพระเกียรติมงคลของพระบิดา และเพื่อทำให้มนุษย์ทุกคนมีส่วนในการไถ่บาป และช่วยผู้อื่นให้รอดพ้น

บรรดาคริสตชนผู้ได้รับศีลล้างบาป ต่างก็ร่วมเป็นหนึ่งในพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า และร่วมเป็นประชากรของพระเจ้า จึงมีส่วนร่วมในหน้าที่ “สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ของพระคริสตเจ้า” ปฏิบัติภารกิจของประชากรคริสตชนสืบไปและสุดความสามารถ ทั้งในพระศาสนจักร และอยู่ในโลกตามวิถีทางเฉพาะของตน (พระศาสนจักร 31.1 ดูเพิ่มเติม คริสตชนฆราวาส 9 และ 32) ฆราวาสจึงมีกระแสเรียกเช่นเดียวกับพระสงฆ์ และนักบวชชาย-หญิงทุกประการ เพราะการแพร่ธรรมมิใช่เป็นหน้าที่ของใคร หรือกลุ่มใดโดยเฉพาะเท่านั้น

2. กระแสเรียกเฉพาะของฆราวาส

ลักษณะเฉพาะพิเศษของฆราวาสก็คือ “คุณสมบัติทางโลกของเขา” ในฐานะที่ได้รับการเรียก และเลือกสรรจากพระเจ้าให้ดำเนินชีวิตทางโลก ฆราวาสมีหน้าที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยการประกอบธุรกิจทางโลก และจัดให้ดำเนินไปตามแผนการของพระองค์ เขาดำเนินชีวิตอยู่ในโลก หมายถึงการมีครอบครัว มีธุระ กิจการงานอยู่ในสังคม ในฐานะเช่นนี้แหละที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกเขาให้ทำหน้าที่ของตนตามจิตตารมณ์พระวรสารเป็นดัง “เชื้อแป้ง เกลือ และแสงสว่าง” ทำให้โลกศักดิ์สิทธิ์ขึ้นจากภายใน เขาแสดงองค์พระคริสตเจ้าให้ผู้อื่นเห็น โดยเจริญชีวิตเป็น “สักขีพยาน” ยืนยันถึงพระองค์ ในความเชื่อ ความหวัง และความรัก ดังนั้นเมื่อเขาต้องเกี่ยวข้องอยู่กับภารกิจทางโลกทุกแบบทุกชนิด จึงเป็นหน้าที่ของเขาโดยเฉพาะที่จะจัดระเบียบ และทำให้กิจการเหล่านั้นมีความหมายในทางที่จะดำเนินไป และเจริญขึ้นตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า (พระศาสนจักร 31.2) นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะของฆราวาส ซึ่งพระสงฆ์หรือนักบวชไม่สามารถเป็นได้ พระสันตะปาปา ปีโอที่ 12 จึงกล่าวว่า “คริสตชน หรือกล่าวให้เจาะจงลงไป คือฆราวาส อยู่ในแนวหน้าแห่งการดำเนินชีวิตของพระ ศาสนจักรอาศัยพวกเขา พระศาสนจักรเป็นหลักด้านจิตวิญญาณ สำหรับสังคมมนุษย์ เพราะฉะนั้นพวกเขาควรมีความรู้สำนักชัดเจนเสมอว่า พวกเขาไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับพระศาสนจักรเท่านั้น แต่พวกเขา “เป็นพระศาสนจักร” (คริสตชนฆราวาส 9.4)

3. บทบาทของฆราวาสในโลก

เนื่องจากฆราวาสดำเนินชีวิตในโลก พระองค์จึงทรงมอบหมายภารกิจให้ฆราวาสทำให้เรื่องทางโลกเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ เช่นในด้านการเมือง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปกรรม ด้านการมีชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างนานาชาติ และในด้านสื่อสารมวลชน ตลอดจนงานเกี่ยวกับครอบครัว การให้การศึกษาและช่วยบรรเทาทุกข์ ในท่ามกลางงานหลากหลายเหล่านี้แหละที่เขาได้รับกระแสเรียกให้เผยแพร่พระวรสารของพระเยซูคริสตเจ้า และนำคุณค่าแห่งพระวรสารเข้าไปปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

ก. ครอบครัว ครอบครัวเป็นเซลล์พื้นฐานแรกของสังคม ครอบครัวเป็นที่ฟูมฟักชีวิตและความรัก เป็นสถานที่ซึ่งแต่ละคนเกิดและเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นจึงต้องห่วงใย และเอาใจใส่ต่อสังคมเล็กๆนี้ก่อนเป็นอันดับแรก

นอกนั้น ครอบครัวยังเป็น “พระศาสนจักรระดับบ้าน” บิดามารดาจึงต้องเป็นผู้นำบุตรในการภาวนา ไปวัด ร่วมพิธีกรรมและรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท และศีลอภัยบาป สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะต้องสื่อสาร และนำพระพร สันติสุข และความรักของพระเจ้าไปมอบให้กับชุมชนโดยส่วนรวม โดยเริ่มจากบ้านใกล้เรือนเคียง

ข. การส่งเสริมศักดิ์ศรีของบุคคล การเคารพสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

ค. ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม

ง. ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม

จ. การฟื้นฟูระเบียบ ประเพณี กฎหมาย และโครงสร้างของชุมชนที่ตนอยู่

คริสตชนจึงมีหน้าที่นำจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร จิตตารมณ์แบบคริสตชนซึมซาบเข้าไปในทุกที่ ทุกสถานการณ์ และโอกาส เพื่อทำให้โลกนี้ศักดิ์สิทธิ์ไป

4. บทบาทของฆราวาสในพระศาสนจักร

คริสตชนฆราวาสมีส่วนร่วมในชีวิตของพระศาสนจักร ไม่เฉพาะในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของเขาในการไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ(มิสซา) การบำรุงพระศาสนจักร และในเรื่องความสามารถพิเศษที่เขาได้รับเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติในด้านอื่นๆอีกมากมาย

การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของวัด

วัดเป็นที่แสดงให้เห็นถึงรหัสธรรมแท้จริงของพระศาสนจักรซึ่งอยู่ที่นั้นและกำลังทำงาน โดยหลักการแล้วอาณาเขตของวัดไม่ใช่สถาบัน หรือเขตพื้นที่ หรือตัวอาคารบ้านเรือน หากแต่เป็นครอบครัวของพระเป็นเจ้า มีความเป็นพี่น้องกัน มีจิตวิญญาณเดียวกันด้วยความเชื่อในองค์พระเป็นเจ้าเดียว ยึดเอาศีลมหาสนิท และพระวาจาของพระเจ้าเป็นหลักการดำเนินชีวิต นอกจากจะเป็นพระวิหารของพระเจ้าแล้ว วัดยังเป็นศูนย์ร่วมชีวิต และจิตใจของคริสตชน วัดจึงกลายเป็น “เครื่องหมาย” และ “เครื่องมือ” แห่งการเรียกและการเชื้อเชิญของพระเจ้าที่มีต่อทุกคน ทุกฐานะอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ให้เข้าสู่สหพันธ์นักบุญ คริสตชนฆราวาสจึงมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของวัด เป็นการทำงานทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม โดยการให้ความร่วมมือกับทางวัดในการงานด้านศาสนา และงานแพร่ธรรมทุกชนิด ดังเช่น

- การมีส่วนร่วมในการวางแผนอภิบาล และในการตัดสินใจในสภาอภิบาลวัด และในการประชุมต่างๆ ของวัด

- การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด และในสังฆมณฑล

- การเป็นสมาชิกในองค์กรคาทอลิกต่างๆ ในเขตวัด และในระดับสังฆมณฑล หรือระดับประเทศ

- การมีส่วนร่วมงานอภิบาล และแพร่ธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูชีวิต คริสตชนในเขตวัดและในสังฆมณฑล และในระดับประเทศ

- การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของวัด และการให้ความร่วมมือ กับเจ้าอาวาส และผู้นำทางศาสนา